วันจันทร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2553

ลงทุนไม้กฤษณา ... ควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ

ลงทุนไม้กฤษณา...ควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ

ราคา อันสูงลิ่วของน้ำมันกฤษณา ก่อให้เกิดบริษัทลงทุนปลูกไม้กฤษณาเกิดขึ้นอย่างมากมาย ทั้งการระดมทุน ขายกล้าพันธุ์ นำเสนอผลตอบแทนอันน่าพอใจ ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกโรงเตือนเมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่า ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมากว่าถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มบุคคล และบุคคลชักชวนให้มา ร่วมลงทุนในธุรกิจจัดซื้อหาไม้กฤษณา ที่สำคัญระบุว่า หากเข้าร่วมลงทุนด้วยจะได้รับเงินปันผลตอบแทนตั้งแต่ร้อยละ 20-30 ถึงเท่าตัวของเงินลงทุน

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่างานวิจัยของคณะพอบอกได้ว่าสามารถชักนำให้เกิดกฤษณาได้ แต่รูปแบบการปลูกไม้กฤษณาในช่วงนี้ชาวบ้านจะปลูกขายเหมาส่งโรงกลั่นได้ราคา ที่ไม่สูงมากนัก กฤษณาที่จะให้ผลผลิตจะมีอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ในตลาดขณะนี้ยังมีอยู่น้อย แต่ในข้อเท็จจริงแล้วน้ำมันกฤษณาที่ซื้อขายกันอยู่ในต่างประเทศมาจากป่า ธรรมชาติมากกว่าสวนป่า

สิ่งที่น่าห่วง คือตลาดของไม้กฤษณายังลึกลับดำมืด มีจุดรับซื้ออยู่เพียง 20 ร้าน ย่านซอยนานา มีแต่คำพูดบอกต่อ ๆ กันมาว่ามีราคาดี ไม่มีตัวเลขแสดงความต้องการตลาดชัดเจน และในอนาคตประเมินว่าเมื่อมีการปลูกจำนวนมากราคาจะดิ่งลง ซึ่งบริษัทต่าง ๆ คำนวณราคาต่อต้นจะได้กำไร 3,000-5,000 บาท ใช้เวลา 10 ปี จึงได้กฤษณา แต่เมื่อถึงเวลานั้นบวกค่าใช้จ่ายในการกลั่น ค่าแรงงาน ราคาน่าจะลดลงมาเยอะ

“มี คำแนะนำว่าเกษตรกรที่ต้องการปลูกกฤษณา ให้ปลูกแซมในพื้นที่สวนผลไม้ เพราะต้นกล้าราคาไม่แพง 3-4 บาท ดูแลไม่ยาก ต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี แต่ไม่ใช่ว่าจะปลูกได้ทุกที่ ไม้กฤษณาเหมาะสมกับสภาพอากาศพื้นที่รอบ ๆ เขาใหญ่ ไม่เห็นด้วยที่จะลงทุนเป็นสวนป่าขนาดใหญ่”

รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกอีกว่าต้องเข้าใจการลงทุนด้านไม้กฤษณาคือการลงทุนด้านการเกษตรมีราคาขึ้น ลงได้ อย่าคาดหวังกับความร่ำรวยในอนาคต เมื่อถึงเวลาที่จะขายอาจไม่มีราคาก็ได้

ในระยะ 10 ปี ให้หลังมีการชักชวนให้ปลูกกฤษณากันจำนวนมาก แต่สถานการณ์การลักลอบตัดไม้กฤษณาจากป่าธรรมชาตินั้นยังมีอยู่แม้จะมีการ ตรวจตราอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ป่าไม้

จากการบอกเล่าของ จรูญ ดำเที่ยงป้อม อดีตลูกจ้างศูนย์เพาะชำกรมป่าไม้ จ.ปราจีนบุรี ผู้เคยยึดอาชีพหาไม้กฤษณามากว่า 30 ปี แต่ปัจจุบันหันมาเป็นลูกจ้างในบริษัทปลูกต้นกฤษณาแทน ระบุว่าการหาไม้กฤษณาของชาวบ้านที่นี่ลดน้อยลงไปจากอดีตมีผู้หาไม้กฤษณา มากกว่า 30 คน ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 10 คน แต่ยืนยันว่าการลักลอบหาไม้กฤษณายังมีอยู่

“เมื่อ 2 เดือนก่อนใน อ.กบินทร์บุรี มีคนหาไม้แก่นขายไปได้ 250,000 บาท เป็นไม้เกรดซูเปอร์” ผู้มีประสบการณ์หาไม้กฤษณาบอกเล่าและว่า การลักลอบของคนไทยไม่น่ากลัวเท่ากับคนชาวเขมร

ตอนนี้ข้ามเขามาทางป่า ประจันตคามกันเยอะ เจ้าหน้าที่ตรวจตราไม่ทั่ว เพราะเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นคนนอกพื้นที่ ไม่ชำนาญเส้นทาง และการหาไม้กฤษณาของเขมรจะเก่งกว่าคนไทย จะเลือกเฉพาะไม้ที่เป็นเกรดซูเปอร์จริง ๆ คือไม้ที่มีเนื้อสีดำทั่วมีน้ำมันมากราคาตกกิโลกรัมละเป็นแสน ส่วนไม้คุณภาพรองลงมาคือ “ไม้ต้มกลั่น” ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3,500 บาท เขมรไม่ต้องการ แต่คนไทยเก็บมาหมดเพราะมีแหล่งรับซื้อ

การหาไม้กฤษณา เป็นอีกวิธีการทำลายป่าแบบน้ำเซาะทราย ต้องใช้ มาตรการแก้ไขทั้งทางตรงและทางอ้อมควบคู่กันไป รูปแบบการปลูกป่าจัด การ เป็นอีกแนวคิดที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับโลกโดยมีเทคโนโลยีอันทันสมัย และระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน



บริษัท ทัชวู๊ด ฟอร์เรสตรี้ ได้จัดการปลูกป่าที่มีค่าทางเศรษฐกิจ เช่นมะฮอกกานี วานิลลา ไม้ จันทน์หอมในแปลงปลูกประเทศศรีลังกา และเลือกประเทศไทยปลูกไม้กฤษณา ในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี และในอนาคตจะมีการปลูกไผ่เพื่อส่งออก โดยใช้รูปแบบเดียวกับไม้กฤษณาด้วย

กิตติภพ จารุสิงห์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดบริษัททัชวู๊ด ฟอร์เรส ตรี้ กล่าวว่าบริษัทได้ลงทุนปลูกไม้กฤษณา บนเนื้อที่ 2,000 ไร่ ในเขต อ.กบินทร์บุรี โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน BOI บริษัทเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมด และเป็นที่ดินมีโฉนด

ผู้สนใจ ร่วมลงทุนเริ่มต้นที่ 46 ต้น ราคา 124,000 บาท (รวมค่าบำรุง 1 ปี) ภายใน 6 ปีจะสามารถขายไม้กฤษณาได้ โดยบริษัทคำนวณผลตอบแทนออกมาให้เห็นคร่าว ๆ ว่าเมื่อครบ 6 ปีจะได้ราคาผลตอบแทนทางการตลาดที่ 460,000 บาท

ผู้จัดการฝ่ายการตลาดบริษัททัชวู๊ด ฟอร์เรสตรี้ บอกว่าการปลูกไม้กฤษณาที่ประเทศไทยเลือกใช้ชนิดพันธุ์ไม้กฤษณาที่ให้น้ำมัน ดีที่สุดในพื้นที่เขาใหญ่ วิธีการปลูกกฤษณาของที่นี่อยู่ภายใต้งานวิจัยของ ศาสตราจารย์ โรเบิร์ด เอ พลันเซตต์ และ โจเอล เจอร์เกนท์ จากมหาวิทยาลัยมินิโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกและชักนำสารในต้นกฤษณาประสบการณ์กว่า 10 ปี เข้าร่วมวิจัยการชักนำสารกฤษณาในแปลงปลูก ที่ จ.ปราจีนบุรี โดยงานวิจัยดังกล่าวได้มีการจดลิขสิทธิ์เป็นแห่งแรกในโลกเมื่อปี 2544

“ถ้า ปลูกในโครงการมีน้ำมัน แน่นอน ถ้าไม่มีแสดงว่า งานวิจัยของดร.พลันเซตต์ มีปัญหา เพราะเราใช้หลักการกระตุ้นเดียวกัน ถ้าไม่มีสักร้อยละ 1 ก็ไม่ได้แปลกอะไร” ผู้ดูแลโครงการกล่าว

รูปแบบการลงทุนไม้ กฤษณาในแนวนี้แตกต่างจากที่อื่น ๆ คือบริษัทจะดูแลต้นไม้ให้ ภายใต้เงื่อนไขว่าผู้ลงทุนต้องจ่ายเงินค่าดูแล 10 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุนทุกปี ซึ่งการดูแลจะใช้เทคโนโลยีทันสมัยมีนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านพืชประจำ โครงการ และรับประกันเปลี่ยนต้นไม้หากตาย รวมทั้งมีประกันภัยพิบัติซึ่งขณะนี้ดำเนินการปลูกกฤษณามาแล้ว 4 ปี

ธุรกิจ การปลูกป่าจัดการเป็นแนวคิดใหม่ ช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่า ก่อให้เกิดการจ้างงาน อนุรักษ์พันธุ์ไม้มีค่าเอาไว้ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าคุณต้องศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ ถ้าตราบใดเหตุผลของการลงทุนปลูกต้นไม้ไม่ได้คิดว่าจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวบน โลก แต่ต้องการดอกผลจากเงินที่ลงทุนไปมากกว่า.

1 ความคิดเห็น:

  1. ตอนนี้ตลาดไม้กฤษณากำลังสั่นสะเทือนอย่างแรง เพราะ ลาวเปิดค้าเสรีป่าไม้ ไม้จันทร์ และกฤษณา พ่อค้าไม้เมืองปทุมธานีจึงพานักธุรกิจจากกวางโจวและกลุ่มประธานฮาลาลของไทย(สายกรุงไคโร) เข้ามาจับกฤษณา $10,000/กิโลกรัม ต้องเข้าไปตัดและขนเอง ออเดอร์ล็อตแรกกว่า 800 Ton ทำสัญญา มกราคม ลาวทำเงินเข้าประเทศมากกว่าสองแสนล้าน ลาวมี ไม้กฤษณา100ปีพร้อมขายมากกว่าล้านตัน โดยสองคนไทยคุณอ๋อยและคุณแมน ซึ่งมีอิทธิพลสูง ได้รับการสนับสนุนจากคณะเจ้าแขวงและกลุ่มอำนาจใหม่ในลาว
    ถ้าคิดจะทำกฤษณา ขอให้ทบทวนให้ดี เขากล้าซื้อจากป่า $10,000/กิโลกรัม เขาจะไม่มองไม้ปลูกไร้คุณภาพ

    ตอบลบ