บ้านดิน สร้างได้ด้วยมือเรา
--
เรื่องราวเกี่ยวกับบ้านดิน ที่จะเล่าสู่กันฟังนี้ ขอใช้ชื่อเรื่องว่า “บ้านดินสร้างได้ด้วยมือเรา” ซึ่งเป็นชื่อเดียวกันกับชื่อเวปบอร์ดของเพื่อนอาสาคนหนึ่ง ที่ไปช่วยสร้างบ้านดิน หรือฐานปฏิบัติการ KBD ภาค ตะวันตก เมื่อวันที่ 5 - 7 ธันวาคม ที่ผ่านมา เหตุที่อยากใช้ชื่อนี้เพราะรู้สึกสะดุดใจ และหวนนึกถึงครั้งแรกที่เริ่มสนใจการสร้างบ้านด้วยดิน สำหรับกลุ่มอาสา KBD ที่ ต้องการเผยแพร่ความรู้เรื่องการสร้างบ้านดินนั้น ก็เพราะว่าบ้านดินเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่สำหรับตัวข้าพเจ้าเอง สนใจบ้านดิน เพราะทราบมาว่าสร้างด้วยสองมือ และสองเท้า ของเราเองได้ (จริง ๆ หรือ...)
ปลาย ปี 2546 เริ่มสนใจบ้านดินเป็นครั้งแรก เพราะเปิดเจอในเวปไซด์แห่งหนึ่ง เป็นบ้านดินที่เลิศหรู อลังการมาก ราคาเป็นร้อยล้าน แต่อยู่ในต่างประเทศ แถบแมกซิโก
ปี 2547 รู้จัก คุณโจน จันใด จากการให้สัมภาษณ์รายการทีวี และทราบว่าคุณโจน เปิดอบรมการสร้างบ้านดินด้วย จึงไม่รีรอ เก็บเสื้อผ้าใส่เป้ เดินทางไปยังอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเรียนรู้การสร้างบ้านด้วยดินกับคุณโจน จันใด กับคนอื่นๆ ซึ่งมีทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ประมาณ 10 กว่าคน คุณโจน จันใด ตั้งชื่อสถานที่แห่งนี้ว่า ‘สวนพรรณพัน’
ต้น ปี 2548 ตั้งใจกลับมาสร้างบ้านดินของตัวเองบนพื้นที่ ที่คาดว่าจะเป็นที่ดินมรดก ที่จังหวัดราชบุรี แต่คิดใช้วิธีลัด จ้างช่างรับเหมาเข้ามาสร้างให้ (ตอนนั้นรู้เรื่องบ้านดินแบบงูๆ ปลาๆ แต่คิดอยากมีบ้านดินสักหลัง ถ้าไม่โกหกตัวเองก็น่าจะมีไว้อวด มากกว่ามีไว้อยู่อาศัยจริง) พ่อออกมาคัดค้านการว่าจ้าง ติเตียนอย่างรุนแรง ตั้งคำถามว่า ไหนบอกว่าสร้างได้ด้วยตัวเอง แล้วทำไมจึงไม่ทำเอง หรือว่ามือตีนจะถูกดินไม่ได้!! เจ็บๆๆ แทงใจดำสุดๆ เจ็บไปถึงตับไตใส้พุง เผ่นออกจากบ้าน กลับซบหน้าเข้าหาเมืองกรุง อกหักอยู่ 2 เดือน ต้นเดือนมีนาคม 2548 ใช้เงินทั้งหมดที่สะสมไว้ และตั้งใจจะเก็บไว้จ้างช่างรับเหมาสร้างบ้าน เปลี่ยนใจเอาไปดาวน์รถกะบะป้ายแดง 1 คัน เดินทางท่องเที่ยวทั่วไทย(ในยามว่าง) เพื่อศึกษา และเรียนรู้การสร้างบ้านดิน เหนือ อีสาน ใต้ ไปทุกที่ ที่มีแรง(ทรัพย์)
ปี 2550 บ้านดินในจินตนาการ ถูกวาดฝันลงแผ่นกระดาษ แต่โครงการบ้านดินต้องระงับไว้ก่อน เพราะเริ่มก่อตั้งกลุ่มอาสา KBD อย่าง เป็นทางการ และประเดิมด้วยโครงการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำตะวันตก จัดกิจกรรมอาสาสำรวจเส้นทางเดินป่า พาเหล่าอาสาไปใช้ชีวิตกลางพงไพร จนเพื่อนๆ อาสา เกิดอาการหลงใหลป่า หรือที่เราเรียกกันว่า ‘ติดป่า’ และบางครั้งต้องเรียกประชุมเพื่อหาวิธี ‘เลิกป่า’ แต่พอเจอหน้ากัน ทุกคนก็จะพูดคุยแต่เรื่องป่า เรื่องอื่นๆ ตกกระป๋อง ไปโดยปริยาย เราจึงตกลงกันว่า ไหนๆ ก็เลิกไม่ได้แล้ว เราก็จัดค่ายเดินป่ากันบ่อยๆ ดีไหม การเดินป่า สำรวจเส้นทางเดินป่า จัดกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่า เพื่อที่เราจะมีป่าให้เสพไปได้ตลอดชีวิต โดยไม่ต้องมาคิดหาวิธีเลิกกันให้ยุ่งยาก
ช่วงปีใหม่ 2552 มีโอกาสกลับไปอยู่บ้านป่า ที่ราชบุรี นึก ครึ้มอกครึ้มใจ เลยขุดเอาดินในทุ่งนามาปั้นๆ เล่น พอแห้งสนิท .... นี่มันดินชั้นเลิศเลยนี่นา... ขุมทรัพย์ในดินเป็นเช่นนี้เอง ทำนาก็ได้ ทำสวนก็ได้ แถมยังใช้สร้างบ้านดินได้อีกด้วย รู้สึกภาคภูมิใจ และตื้นตันใจ เข้าใจความรู้สึกของพ่อที่แผ้วถางผืนดินผืนนี้ด้วยสองมือของตนเองไว้เป็น มรดกแก่ลูกหลาน ซึ่งตอนนี้ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้ลูกสาวคนสุดท้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เดือน เมษายน 2552 เป็นอีกช่วงหนึ่งที่เหล่าอาสาต้องแยกย้ายกลับบ้าน เพื่อใช้เวลาอยู่กับครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวของข้าพเจ้าเองที่ยังคงยึดมั่นในประเพณีนี้อยู่มาก วันพ่อ วันแม่ หรือวันไหนๆ ไม่กลับบ้านก็ไม่มีใครว่า หากวันสงกรานต์ไม่กลับมา อาจถูกกล่าวหาได้ว่าอกตัญญู แต่ทางบ้านก็ไม่ใจร้ายนัก ไม่บังคับว่าต้องกลับไป วันที่ 13 เมษายน ซึ่งในปฏิทินบอกไว้ว่าเป็นวันสงกรานต์ แต่ยอมให้กลับวันไหนก็ได้ ขอให้อยู่ในช่วงเดือนเมษายนเป็นใช้ได้
การ กลับไปนั่งๆ นอนๆ อยู่กับบ้าน เป็นสิ่งที่น่าเบื่อเป็นอย่างยิ่ง จากบุคลิกภายนอก คนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน อาจเข้าใจว่าข้าพเจ้าเป็นคนเชื่องช้า เฉื่อยชา เงียบขรึม ถ้าไม่ขลุกอยู่กับต้นไม้ใบหญ้าหน้าบ้าน ที่ข้าพเจ้าเรียกว่าสวนไม่รู้จบ ก็จะไปนอนผูกเปลใต้ต้นมะม่วงริมทุ่ง มีหนังสือเล่มเล็กบ้าง ใหญ่บ้างอยู่ในมือตลอดเวลา ความเงียบสงบภายนอก ช่างแตกต่างจากความพลุ่งพล่าน และเสียงที่ดังกังวาลอยู่ภายในอย่างสิ้นเชิง ข้าพเจ้าเป็นคนชอบคิด ชอบวางแผน และชอบพูดคุยกับตัวเอง เมื่อคิดแล้ว วางแผนแล้ว ก็ต้องลงมือทำ ฐานรากบ้านดินจึงแล้วเสร็จด้วยความบ้าพลังภายในระยะเวลาเพียง 9 วัน ในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์
5 - 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา แผนการต่างๆ ที่วางไว้ก็พร้อมสรรพ เป็นไปโดยธรรมชาติ กลุ่มอาสา KBD ใน ฐานะเจ้าภาพ ได้ประกาศเรียนเชิญเพื่อนพ้องน้องพี่ และผู้สนใจทั่วไป ได้มาเข้าร่วมลงแรงและเรียนรู้การสร้างบ้านดิน จุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องการสร้างบ้านด้วยดิน บ้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นเตือนผู้คนในหมู่บ้านที่กำลังถูกกระแสบริโภคนิยมดึงเข้าสู่ วังวนของหนี้สิน โดยใช้บุคคลภายนอกซึ่งเข้าใจแล้วในกระแสอันร้อนรนนี้ และแสวงหาทางเลือกใหม่ เป็นสื่อเรียนรู้ และสุดท้ายเพื่อให้ได้บ้านดินที่จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยจริง ใช้เป็นสถานที่แสดงงาน ใช้เป็นที่ชุมนุมของกลุ่มอาสา และใช้เป็นสถานที่ทดลอง และเรียนรู้ การใช้ชีวิตตามแบบวิถีของธรรมชาติต่อไป
บ้าน ดินหลังนี้ยังสร้างไม่เสร็จ แต่แผนการที่วางไว้ตั้งแต่ต้นทำให้การก่อสร้างยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ นึกย้อนกลับไปเมื่อ 5-6 ปีก่อน ชีวิตได้ผ่านอุปสรรคของความไม่เข้าใจกันต่างๆ นานา บางครั้งก็หัวเราะร่า บางครั้งก็น้ำตาริน ซึมเศร้า โดดเดี่ยว บางครั้งเจ็บแค้นแสนสาหัส แต่ในเวลานี้ กลับแอบอมยิ้มให้กับความดื้อด้านของตัวเอง จะทำอย่างไรได้ล่ะ ชีวิตมันก็เป็น – เช่นนั้นเอง
----------------------------------
ภาพเบื้องหลังการก่อสร้างบ้านดิน ฐานปฏิบัติการ KBD ภาคตะวันตก
--
พี่ชายใจดี มีฝีมือด้านงานช่าง ช่วยทำไม้แบบสำหรับทำก้อนอิฐดินให้
--
ทดสอบดิน ใช้แรงงานพี่ๆ และหลานๆ
--
ทดสอบแล้ว...เวิร์ค... ก็เลยลงมือทำกันจริงจัง
--
ได้ก้อนอิฐดินมา 800 ก้อน เข้าฤดูฝนเสียก่อน พักไว้ รอจนกว่าหมดหน้าฝน
--
จินตนาการบนแผ่นกระดาษ
--
นำมาวาดลงแผ่นดิน ช่วยกันปักหลัก ขึงเส้นเชือก หลานเยอะใช้ให้คุ้ม
--
ขุดๆๆๆ ตามทฤษฎีให้ลึกลงไปประมาณ 1 ฟุต จริงๆ แล้วไม่ถึงหรอก เหนื่อย...
--
ภาพที่ขุดเสร็จแล้ว
--
ผสมคอนกรีตเทคาน งานปูนไม่ค่อยถนัด ก็ให้พี่ชายกับเพื่อนบ้านแสดงฝีมือ
--
เทลงไปตามร่องคานที่ขุดไว้
--
หมู่ บ้านเรามีทรัพยากรเหลือเฟือ ไปเก็บหินจากแม่น้ำมาก่อให้สูงขึ้นไปจากพื้นอีกประมาณ 20 เซนติเมตร พอให้เป็นลูกเล่นเก๋ๆ และป้องกันความชื้นเข้าสู่ตัวบ้านดินได้ด้วย (ไม่มีความชื้น ก็ไม่มีปลวก เขาว่ามาแบบนั้น)
--
ก่อเป็นรางรถไฟฟ้ามหาสนุก
--
ไม่เว้นแม้รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ
--
ภาพเบื้องหลังที่ไปขโมยหินมาจากแม่น้ำ
--
ก่อทั้งสองด้าน ให้ดูคล้ายเป็นรางรถไฟขนาดจิ๋ว จากนั้นก็ผสมปูนเทลงไปให้เต็มราง
--
ขุดบ่อเกรอะ
--
วางท่อปะปา ท่อน้ำทิ้ง รอบคอบสุดๆ
--
ปรับพื้นที่ในตัวบ้าน
--
เทฟุตบาทรอบๆ บ้าน
--
เทพื้นบ้าน
--
น้าคนนี้เป็นเพื่อนพี่ชาย เพื่อนพี่ ก็เหมือนพี่แท้ๆ เราเอง ผ่านมาแล้วโปรดช่วยกันลงแรง ^^
--
ฐาน รากบ้านดินเป็นอันเสร็จเรียบร้อย วัดพื้นที่ปักหลัก ขุดคานคอดิน ขุดบ่อเกรอะ เทคาน เทฟุตบาท เทพื้นบ้าน ใช้แรงงานพี่สาว พี่ชาย เพื่อนพี่ชาย เพื่อนบ้าน หลานๆ และตัวเราเอง ในระยะเวลาเพียง 9 วัน !
--
เข้าฤดูฝน ปล่อยทิ้งไว้ ให้เป็นไปตามธรรมชาติ
--
เหยื่อ ... เอ้ย ... อาสาชุดแรกมาร่วมเรียนรู้ และลงแรงสร้างบ้านดิน เมื่อวันที่ 5 - 7 ธันวาคม 2552 ขอบคุณครอบครัวจากพิจิตร ครอบครัวจากชลบุรี คุณโอ เจ้าของเวปบอร์ด ‘บ้านดินสร้างได้ด้วยมือเรา’ จากพุทธมณฑล
--
เรียน รู้ส่วนผสมดิน (ดินท้องนาผสมกับแกลบ) เพื่อนอาสาคนหนึ่งแซวว่าไปอยู่กรุงเทพเสียนาน ทำไมจึงยังใช้จอบได้คล่องแคล่ว ขอตอบว่า มันคงฝังอยู่ในดีเอนเอ ลูกชาวนาถ้าจับจอบไม่เป็น รู้ไปถึงไหน อายไปถึงนั่น นี่ถ้าเห็นตอนไถนา ดำนา จะอึ้งกว่านี้อีก ^^
--
เหยียบย่ำฉันเถิด
--
เทลงไม้แบบ หรือบล็อกที่เตรียมไว้
--
แล้วยกขึ้นพร้อมๆ กัน เอ๊า.. ครอบครัวสุขสันต์(ชุลมุน) ช่วยกันหน่อยจ้า
--
เรียนรู้การทำเตียงนอนดิน เริ่มจากก่อขาเตียงก่อน
--
วางไม่ไผ่ลงไปถี่ๆ โป๊ะด้วยโคลนไม่ให้เลื่อนหลุด
--
ปูด้วยก้อนอิฐดินอีก 2 ชั้น
--
เสร็จแล้วจ้า 1 เตียงนอน
--
อาสา ชุดแรกกลับไปแล้ว (5 -7 ธันวาคม) เจ้าของบ้านก็มีเวลาพัก(วางแผน) 1 วัน วันรุ่งขึ้นจะมีอาสาชุดใหม่จากสมุทรสงคราม มาเรียนรู้และช่วยลงแรง ตลอดฤดูฝนที่ผ่านมาเราชะลอการสร้างบ้านดินไว้ และปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ วัชพืชต่างๆ ขึ้นปกคลุมพื้นที่ รกไปหมด จึงต้องไปขอแรง(และรถไถ) จากพี่ชายคนโตมาช่วยจัดการกอหญ้าให้เตียนโล่ง ญาติเยอะก็ดีแบบนี้แหละ ตกเย็นเสียปลาเผาไปสามตัว กับเบียร์ 2 ขวด คุ้มสุดๆๆๆ
--
อาสา ชุดใหม่มาแล้ว... นำทีมโดยคุณญา และชายหนุ่มวัยฉกรรจ์อีก 5 ท่าน (ขออภัยด้วยค่ะ หากจำชื่อได้ไม่หมด) มาถึงก็เริ่มต้นด้วยการเรียนรู้การทำก้อนอิฐดินกันก่อนตามระเบียบ
--
อิฐดินก้อนนี้ ท่านได้แต่ใดมา
--
ระหว่างที่เหยียบย่ำเพื่อทำก้อนอิฐดิน อาสาคนหนึ่งแอบเอาเบ็ดไปวางในบ่อ แล้วเจ้าปลานิลตัวหนึ่งก็ฮุบเหยื่อจนได้ ToT
--
พี่ชายเรา หายอมแพ้ไม่ คว้าแห มาเหวี่ยงเสียเลย จับได้ทีละหลายตัว เร็วกว่าด้วย
--
เหวี่ยงทีเดียว ได้มาหลายตัว มีทั้งปลานิล ยี่สก ตะเพียน แถมปลาบู่อีก 1 ตัว
--
อาหารกลางวันคร้าบบ...
--
กินข้าว กินปลา(ปลาจริงๆ) อิ่มหน่ำสำราญกันแล้ว ก็มาเรียนรู้เรื่องการทำเตียงนอนดินกันต่อ (ส่วนที่เหลืออีก 1 เตียง) โดยเริ่มต้นจากการทำคานขาเตียงก่อน
--
วางไม้ไผ่ โป๊ะด้วยดินโคลน เพื่อยึดไม้ไผ่ไว้ไม่ให้เลื่อนหลุด
--
ปูด้วยอิฐดินที่แห้งสนิทแล้ว อีก 2 ชั้น (แนะนำให้ปู 2 ชั้นนะคะ เพราะจะได้ความหนาที่พอเหมาะ)
--
ขั้นตอนสุดท้าย ผสมดินกับแกลบเหยียบย่ำให้เข้ากันดี แล้วนำมาเทราดลงไปที่ชั้นบนสุด
--
เสร็จแล้วค่ะ เตียงนอนดิน 2 เตียง ตามที่ได้ออกแบบไว้
--
ทำก้อนอิฐดินไปแล้ว ทำเตียงดินไปแล้ว แต่อาสาทั้ง 6 ท่าน ก็ยังไม่เข็ดหลาบ อยากจะเรียนรู้การก่อผนัง การฉาบผนัง และอื่นๆ ต่อไปอีก วันรุ่งขึ้นเราจึงช่วยกันขนก้อนดินที่ทำเตรียมไว้ตั้งแต่ต้นปีมาก่อเป็นผนัง ดินกันค่ะ
--
ใครใคร่ย่ำ ย่ำ (ย่ำโคลนสำหรับใช้ประสานก้อนดินค่ะ ส่วนผสมก็แค่ดินกับแกลบเท่านั้น)
--
ใครใคร่ก่อ ก่อ (ก่อกันให้เป็นเรื่อง เป็นราว)
--
ไม่ ลืมแม้กระทั่งรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ส่วนนี้ต้องใช้ฝีมือนิดหน่อย พี่ชายคนเก่ง เลยต้องลงมือเอง ส่วนตัวเราก็ทำหน้าที่ผู้กำกับ คอยเดินดูตรงนั้น ตรงนี้ ติเขาไปเรื่อย แต่ติเพื่อก่อนะจ๊ะ (เกือบถูกเหวี่ยงด้วยกระป๋องดิน ToT )
--
พี่คนนี้ ตั้งใจสุดๆ เล็งแล้ว เล็งอีก
--
ภาพมุมกว้าง พอก่อเป็นแล้วก็กระจายกันไป มุมใครมุมมัน
--
ว้า ว... สิ่งมหัศจรรย์ของโลก เริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้นทีละนิด.... พอดีก้อนอิฐดินหมดเสียก่อน อาสาจึงต้องจำใจจากไปด้วยความดีใจ เอ้ย... เสียใจ
--
ให้ดูอีกภาพ ใกล้ๆ
--
อาสา ท่านหนึ่ง โดดขึ้นรถตู้มาช่วยลงแรงในโค้งสุดท้าย พอมาถึงทุกอย่างก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้ขุดดินมาทุบๆ นวดๆ แล้วนั่งปั้นโมเดลบ้านที่เสร็จสมบูรณ์ไว้ให้เป็นที่ระลึก
บ้านดินหลังนี้ มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 40 ตารางเมตร มี 2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ ประตูทางเข้า 1 ทาง ใช้ก้อนดินไปแล้วทั้งสิ้น 800 ก้อน (ใช้ทำเตียงนอนดิน เตียงละ 200 ก้อน รวมเป็น 400 ก้อน อีก 400 ก้อน ก่อผนังได้ 5 ชั้น เหลืออีก 32 ชั้น โดยประมาณ) ใช้งบประมาณในการก่อสร้างตั้งแต่ทำอิฐดินก้อนแรก จนถึงปัจจุบัน มกราคม – ธันวาคม 2552 (ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าแรงงาน ค่าอาหารเครื่องดื่ม) เป็นเงินทั้งสิ้น 20,930 บาท
ท่าน ใดสนใจเรียนรู้การทำก้อนอิฐดิน สามารถเดินทางไปเรียนรู้และทดลองทำได้ตลอดเวลา แม้ว่าจอมวางแผนจะทำงานประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่บ้านหลังแรกนี้ก็สร้างให้พ่อเฒ่า กับแม่เฒ่า เจ้าของมรดกที่ดิน 15 ไร่ ซึ่งมีพี่สาวคนเก่งคอยดูแลอยู่ และจะช่วยสอนทำก้อนดินด้วยค่ะ แวะผ่านไปช่วยกันทำเยอะๆ เลยนะคะ เรายังขาดก้อนอิฐดินอยู่อีก 1,900 ก้อน หากได้ก้อนอิฐดินครบแล้ว จะส่งข่าวเรียนเชิญทุกท่านไปช่วยกันก่อผนังเพิ่มเติม จะสอนเทคนิคการตั้งวงกบประตู หน้าต่าง การทำช่องลม ช่องแสง และการทำโครงหลังคาเป็นขั้นตอนต่อไป
แล้วพบกันใหม่ค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น